วันพฤหัสบดี ที่ 8 พฤษภาคม 2568 19:30น.

‘ไทยยูเนี่ยน’ รับเงินกู้ Blue Loan 5 พันล้านบาท จาก ADB เดินหน้าขับเคลื่อนการเลี้ยงกุ้งอย่างยั่งยืน

8 พฤษภาคม 2025

         บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ได้รับการสนับสนุนเงินกู้ด้านความยั่งยืนทางทะเล หรือ Blue Loan วงเงินรวม 150 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 5,000 ล้านบาท จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) โดยเป็นการปล่อยวงเงินกู้ Blue Loan จาก ADB ให้กับอุตสาหกรรมอาหารทะเลในประเทศไทยเป็นครั้งแรก นับเป็นก้าวประวัติศาสตร์ของภาคการเงินที่สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พร้อมตอกย้ำความมุ่งมั่นของไทยยูเนี่ยนในการจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบ ผลิตอาหารทะเลอย่างยั่งยืน และเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

        สำหรับวงเงินกู้ด้านความยั่งยืนทางทะเลในครั้งนี้ แบ่งเป็นสองส่วน คือ เงินกู้โดยตรงจาก ADB และเงินกู้ร่วมจากธนาคารพาณิชย์ชั้นนำที่เป็นพันธมิตรทางการเงินจากฮ่องกง 1 แห่ง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศจีน และจากสิงคโปร์ 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC), ธนาคารเอ็มยูเอฟจี จำกัด (MUFG), ธนาคาร OCBC, ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น (SMBC) และธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ (UOB) โดยวงเงินกู้ดังกล่าวไทยยูเนี่ยนจะนำมาใช้ในการยกระดับการจัดซื้อวัตถุดิบกุ้งที่เพาะเลี้ยงอย่างยั่งยืน ในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ ภายใต้กลยุทธ์ SeaChange® 2030 และยังสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

         ภายใต้วงเงินกู้ด้านความยั่งยืนทางทะเลที่ไทยยูเนี่ยนได้รับในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับขีดความสามารถด้านการจัดหาวัตถุดิบกุ้งที่เพาะเลี้ยงอย่างยั่งยืนที่ได้การยอมรับในระดับโลกจาก Global Sustainable Seafood Initiative หรือ GSSI เช่น มาตรฐาน Aquaculture Stewardship Council หรือ ASC และมาตรฐาน Best Aquaculture Practices หรือ BAP หรือจัดซื้อจากฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีความน่าเชื่อถือ (Aquaculture Improvement Projects หรือ AIPs) แนวทางนี้ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ การตรวจสอบแหล่งที่มาของอาหารกุ้ง และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานหมุนเวียน ปรับปรุงประสิทธิภาพอัตราแลกเนื้อ (FCR) รวมถึง การป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ส่งเสริมการใช้แรงงานที่เป็นธรรมและการทำงานร่วมกับชุมชน

       นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจของเราและการได้รับวงเงินกู้ด้านความยั่งยืนทางทะเลนับเป็นก้าวสำคัญ และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ไทยยูเนี่ยนได้เป็นเอกชนรายแรกในอุตสาหกรรมอาหารทะเลในประเทศไทยที่ได้รับการสนับสนุน Blue Loan จาก ADB โดยเงินทุนนี้จะช่วยเร่งการขับเคลื่อนการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน ช่วยดูแลท้องทะเล สร้างความมั่นคงทางอาหาร และการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ดียิ่งขึ้น เราหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกและเป็นแรงบันดาลใจให้บริษัทอาหารทะเลอื่น ๆ ปฏิบัติตาม”

         “นับเป็นครั้งแรกของเอดีบีที่จัดสรรเงินกู้ Blue Loan ในสาขาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (aquaculture) ในประเทศไทย” นายอานุช เมธา ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย กล่าว “การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นหนึ่งในแหล่งโปรตีนจากสัตว์ที่มีคุณภาพมากที่สุดและมากกว่าครึ่งหนึ่งของอาหารทะเลทั้งโลกมาจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารสำหรับประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้นทุกขณะ แต่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำยังเผชิญความเสี่ยงต่างๆ ทั้งความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและเงื่อนไขด้านสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย มลพิษ การตัดไม้ทำลายป่าที่เพิ่มมากขึ้น และการทำการประมงที่เกินขีดจำกัด เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์น้ำ (aquafeed) ที่สูงขึ้น การร่วมมือกันในครั้งนี้จะช่วยแก้ปัญหาความท้าทายต่างๆ และเป็นกรณีตัวอย่างที่ดีสำหรับการจัดหากุ้งที่เพาะเลี้ยงอย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการปรับตัวและเปลี่ยนผ่านสู่ห่วงโซ่การผลิตที่ยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ”

        นอกเหนือจากการส่งเสริมเป้าหมายด้านความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยนแล้ว เงินกู้ด้านความยั่งยืนทางทะเลยังสนับสนุนพันธกิจของประเทศไทยในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืน และยังสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวของ  ADB Strategy 2030 ซึ่งให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาชุมชนในชนบท และการพัฒนาเศรษฐกิจที่ทุกคนมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน

       เนื่องจากมีความสอดคล้องกับประเภทโครงการของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน เงินกู้เพื่อความยั่งยืนครั้งนี้จึงถือเป็น Blue Loan ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบ “Blue and Green Finance Framework” ของไทยยูเนี่ยน ซึ่งได้รับการพัฒนาจากความร่วมมือทางด้านเทคนิคของ ADB และได้รับการตรวจสอบจากดีเอ็นวี (DNV) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญอิสระ

       ขณะเดียวกันยังเป็นกรอบการดำเนินงานด้านการเงินรายแรกที่สอดคล้องกับร่างมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ระยะที่ 2 (Thailand’s draft Taxonomy Phase 2) และสอดคล้องกับมาตรฐานสากลอื่น ๆ เช่น หลักการของ International Capital Market Association และคู่มือ Bonds to Finance the Sustainable Blue Economy: A Practitioner’s Guide ที่มีการกำหนดเกณฑ์ไว้ชัดเจน โดยได้เปิดตัวในเดือนเมษายน 2568

        นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับหลักการของโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (UNEP) ในเรื่อง Sustainable Blue Economy Finance Principles และยังวางกรอบที่ชัดเจนสำหรับการใช้เงิน การจัดการเงินทุน และการรายงานผล เพื่อให้มั่นใจว่าทุกอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ และสามารถนำไปปฏิบัติได้


คลิปวิดีโอ