“บมจ.สยามเทคนิคคอนกรีต ” เผย Q1/68 บุ๊คกำไรโตกระโดด 108.41% อยู่ที่ 73.05 ล้านบาท กวาดรายได้ 660.17 ล้านบาท โต 28.46% จากการส่งมอบงานที่เร่งตัว และประสิทธิภาพการบริหารต้นทุนที่โดดเด่น ชี้แนวโน้ม Q2 ยังสดใส เดินหน้าลุยประมูลงานใหม่ หนุน Backlog ปัจจุบันอยู่ที่ใกล้ 1,000 ล้านบาท ส่วนแผนลงทุน “วังคอนกรีต” ส่งผลดีตามคาดการณ์ มีดีมานด์ที่ดีเข้ามาหนุน
นายวัฒน์ชัย มงคลศรีสวัสดิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามเทคนิคคอนกรีต จำกัด (มหาชน) หรือ STECH เปิดเผยถึง ภาพรวมบริษัทปีนี้ ผลงานเริ่มสะท้อนความสำเร็จจากการขยายตลาด และการปรับโครงสร้างการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ล่าสุด ประกาศผลประกอบการของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ในงวดไตรมาส 1 ปี 2568 มีกำไรสุทธิ 73.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38 ล้านบาท หรือ 108.41% เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 35.05 ล้านบาท ส่วนรายได้จากการขายและบริการ 660.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 146.27 ล้านบาท หรือ 28.46% รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อที่มีอยู่ในมือและการส่งมอบงานที่เร่งตัว
นอกจากนี้ บริษัทฯ สามารถบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินงานได้อย่างมีประประสิทธิภาพ ส่งผลให้ STECH มีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นถึง 3% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่อัตรากำไรสุทธิก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 11.01% จาก 6.40% อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ขยับขึ้นแตะ 18.92% จากเดิม 9.96% แม้ว่ารายได้จากโครงการรับเหมาก่อสร้างจะหมดลงจากการทยอยจบงานในปีที่แล้ว แต่ STECH ยังคงสามารถขยายรายได้จากการขายและบริการที่เป็น Core Business ได้อย่างแข็งแกร่ง
บวกกับในช่วงกลางปี 2567 ที่ผ่านมา STECH ได้ขยายเข้าไปลงทุนใน บริษัท วังคอนกรีต จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีต ประเภทเสาเข็ม และแผ่นพื้น เพื่อรองรับตลาดภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บริษัทฯ ยังไม่มีโรงงาน ทำให้เพิ่มช่องทางในการขยายฐานลูกค้าและเพิ่มรายได้ อีกทั้งภาคใต้มีแผนเมกะโปรเจกต์หรือโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ ทั้งโครงการกำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาและอนุมัติโครงการ เป็นโอกาสของบริษัทฯ ในการขยายฐานให้กว้าง และจะรับรู้ผลงานในปีนี้เข้ามาเต็มปี
นายเจษฎ์กรณ์ มงคลศรีสวัสดิ กรรมการผู้จัดการสายงานการตลาดและขาย บริษัท สยามเทคนิคคอนกรีต จำกัด (มหาชน) หรือ STECH กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 2/2568 คาดจะเติบโตต่อเนื่อง โดยบริษัทยังมีงานที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) อยู่ที่เกือบ 1,000 ล้านบาท และพร้อมเข้าร่วมประมูลงานโครงการใหม่จำนวนมาก ทั้งจากภาครัฐและเอกชน รองรับแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดย STECH มีโรงงานผลิตคอนกรีตอัดแรงรวม 10 แห่ง ครอบคลุมทุกภูมิภาค พร้อมจุดแข็งด้านเทคโนโลยีการผลิตลวดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้น้ำกรดไฮโดรคลอริค สอดรับเทรนด์ ESG และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาด ไม่เพียงเท่านั้น STECH ยังต่อยอดธุรกิจไปสู่ตลาด B2C ด้วยการจำหน่าย เสาเข็มขนาดเล็ก (Micropile) เจาะกลุ่มเจ้าของบ้านและผู้รับเหมาก่อสร้างรายย่อย เพื่อซ่อมแซมต่อเติมบ้าน เพิ่มโอกาสสร้างรายได้กระแสใหม่ในอนาคต
“แม้เศรษฐกิจโลกยังเผชิญความท้าทาย แต่ตลาดคอนกรีตอัดแรงในไทยยังคงมีความต้องการอยู่จากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ STECH มุ่งเน้นการขยายตลาดพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนสู่เป้าหมายรายได้ปี 2568 อย่างมั่นคง” นายเจษฎ์กรณ์ กล่าวทิ้งท้าย