นายวรวุฒน์ โตเจริญธนาผล President และหัวหน้ากลุ่มงานการเงินและบัญชี บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG เปิดเผยว่า ปี 2568 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 1.3-2.3% YoY ตามการประมาณการของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2568) โดยมีแรงหนุนจากการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวดีตามการปรับเพิ่มกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนประจำปีงบประมาณ 2568 และการส่งออกที่เร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี ก่อนที่มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มลดลงตามภาคการผลิตที่อ่อนแอประกอบกับเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายประการ อาทิ หนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ความไม่แน่นอนจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และความยืดเยื้อของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
สำหรับผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2568 กลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีกำไรสุทธิ 1,121 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.8 และมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 361,287 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ดำเนินธุรกิจภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี โปร่งใส และดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนที่คำนึงถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (Sustainable Business) โดยบริษัทได้รับการคัดเลือกจากสถาบันไทยพัฒน์ให้เป็น 1 ใน 100 บริษัทจดทะเบียนที่มีความโดดเด่น ในการดำเนินธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ประจำปี 2568 (Environmental Social and Governance: ESG) เป็นปีที่ 10 และบริษัทได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับองค์กร Carbon Footprint for Organization (CFO) และรับรองความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ประจำปี 2567 จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศเพื่อต่อสู้กับปัญหาภาวะโลกร้อน โดยปี 2567 บริษัทได้ชดเชยคาร์บอนเครดิตจำนวน 3,998 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า
นายฉี ชิง-ฟู่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH Bank เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ครึ่งแรกของปี 2568 มีกำไรสุทธิ 1,103 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สินเชื่อเติบโตร้อยละ 3.4 จากสิ้นปี 2567 หลักๆ เป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อรายย่อยร้อยละ 9.3 และสินเชื่อธุรกิจร้อยละ 1.8 และธนาคารได้ขยายสินเชื่อ SME ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม (Product Program) ส่งผลให้สินเชื่อ SME เติบโตอย่างมีนัยสำคัญจากสิ้นปีก่อน นอกจากนี้ ธนาคารได้ขยายฐานลูกค้ารายย่อยเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากสิ้นปีก่อน ด้วยความสำเร็จของผลิตภัณฑ์เงินฝากดิจิทัล “B-You Max” รวมถึงการเติบโตของธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management)
ธนาคารได้ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายของ CTBC ไต้หวันซึ่งเป็นบริษัทแม่ ในการสนับสนุนให้สินเชื่อกลุ่มลูกค้าต่างประเทศผ่านสินเชื่อธุรกิจต่างประเทศ (Trade Finance) และ FX ขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าจากประเทศจีน นอกจากนี้ ธนาคารยังคงรักษาคุณภาพสินทรัพย์โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ร้อยละ 2.59 และ NPL Coverage อยู่ที่ร้อยละ 173 และมีเงินกองทุนที่เพียงพอ โดยอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง Tier 1 และ BIS Ratio อยู่ที่ร้อยละ 15.73 และ 17.81 ตามลำดับ
สำหรับกลยุทธ์ช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ธนาคารยังคงเดินหน้าขยายสินเชื่อกลุ่ม SME ผ่าน Product Program ควบคู่กับการให้บริการ Corporate E-Banking/ Mobile Banking “LHB Biz Connect” ที่รองรับการชำระเงินและธุรกรรมการค้าต่างประเทศ (Trade Finance) ทั้งสกุลเงินบาทและสกุลเงินต่างประเทศ สำหรับลูกค้ารายย่อย ธนาคารยังคงมุ่งเน้นให้บริการสินเชื่อบ้านและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ ธนาคารเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยี AI และแอปพลิเคชัน เพื่อยกระดับความเป็นเลิศในการให้บริการลูกค้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งธนาคารยังเร่งขยายบริการบริหารความมั่งคั่งผ่านโครงการ “Family Banking” โดยมอบสิทธิพิเศษสำหรับกลุ่มลูกค้า Wealth และพร้อมตอบสนองทุกความต้องการของคนรุ่นถัดไป
LH Bank ดำเนินธุรกิจภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี โปร่งใส และดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนที่คำนึงถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (Sustainable Banking) สนับสนุนการปล่อยสินเชื่อสีเขียว และสินเชื่อเพื่อการเปลี่ยนผ่าน (Transition Finance) เพื่อสนับสนุนและให้คำปรึกษาลูกค้าที่ต้องการปรับตัวสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ รวมทั้งธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องผ่านมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อบรรเทาภาระหนี้ของลูกหนี้ ช่วยให้ลูกหนี้ปิดหนี้ได้ไว และรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันไว้ได้ ตามหลักเกณฑ์ ของธนาคารแห่งประเทศไทย
นายมนรัฐ ผดุงสิทธิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด หรือ LH Fund เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2568 มีสินทรัพย์สุทธิของกองทุนรวมที่นับรวมกองทุนอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งสิ้น 66,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 4.5% จากสิ้นปี 2567 กองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) มีขนาดกองทุน 13,093 ล้านบาท และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีขนาดกองทุน 9,596 ล้านบาท
สำหรับกลยุทธ์ช่วงครึ่งหลังของปี 2568 บริษัทยังคงขับเคลื่อนกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อเสริมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยปรับบทบาทของทีมงานให้สามารถบริหารผลิตภัณฑ์การลงทุนทุกประเภทได้อย่างคล่องตัวและครอบคลุมยิ่งขึ้น และปรับแนวทางการเติบโตของสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาวกับกลุ่มลูกค้า High Net Worth สถาบัน และองค์กร ด้วยการนำเสนอโซลูชันที่ตอบโจทย์ลูกค้านอกเหนือจากการลงทุน สำหรับกลุ่มลูกค้ากองทุนส่วนบุคคล บริษัทได้พัฒนาโซลูชันการลงทุนและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคลมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเร่งขยายธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยเจาะกลุ่มบริษัทที่ยังไม่มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น
นายกานต์ อรรถธรรมสุนทร กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ (LH Securities) กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจหลักทรัพย์ครึ่งแรกของปี 2568 ภาวะตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงต่อเนื่องจากปัจจัยกดดันทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น ความกังวลเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองภาวะเศรษฐกิจ มาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ การปรับลดน้ำหนักตลาดหุ้นไทยโดย MSCI และความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ เป็นต้น ทำให้ตั้งแต่ต้นปี 2568 ดัชนีปรับตัวลดลงมากกว่าตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในภูมิภาค โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปิดที่ 1,089.56 จุด ลดลงร้อยละ 22.2 จากสิ้นปี 2567 ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันหดตัวลงอยู่ที่ 41,856 ล้านบาท โดยผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2568 มีรายได้ค่านายหน้าจำนวน 40.2 ล้านบาท ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปี 2567 สาเหตุหลักมาจากการหดตัวลงของปริมาณการซื้อขายของตลาดหุ้นไทย
สำหรับกลยุทธ์ของบริษัทยังคงมุ่งเน้นการเติบโตอย่างระมัดระวัง เน้นสร้าง Passive Income เช่น รายได้เงินปันผล รายได้ค่าธรรมเนียมการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และที่ปรึกษาทางการเงิน รวมทั้งเพิ่มและพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น การให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศ การพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า เพิ่มการมีส่วนร่วม (Engagement) ของลูกค้าเดิมด้วยบริการที่สะดวกรวดเร็วและปลอดภัย พร้อมบริหารต้นทุนอย่างเหมาะสม