วันพฤหัสบดี ที่ 1 พฤษภาคม 2568 01:24น.

LEO ไฟเขียวปันผล 0.14 บาท/หุ้น รับทรัพย์ 14 พ.ค.นี้

30 เมษายน 2025

       ผู้ถือหุ้น LEO โหวตผ่านมติจ่ายเงินปันผลงวดปี 67 เป็นเงินสด 0.14  บาท/หุ้น เตรียมรับทรัพย์ในวันที่ 14พ.ค. 68 นี้ ฟากซีอีโอ “เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ” มั่นใจผลงานปีนี้เติบโตต่อเนื่อง ระบุแผนปี 68 ลุยยุทธศาสตร์ “LEO Go Green” สร้างการเติบโตของอัตรากำไรขั้นต้น ดันผลงานเติบโต 20-25%

       บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LEO เปิดเผยว่า ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานปี 2567 ในอัตรา 0.14 บาทต่อหุ้น คิดเป็นเงินจ่ายปันผลรวม 44.1 ล้านบาท โดยกำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 13 มีนาคม 2568 และจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2568

       นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LEO เปิดเผยว่า “การจ่ายปันผลในครั้งนี้เป็นการตอบแทนผู้ถือหุ้นที่ให้ความไว้วางใจในทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัท เรามั่นใจว่าผลการดำเนินงานในปี 2568 จะยังคงเติบโตต่อเนื่อง ตามแผนยุทธศาสตร์ “LEO Go Green” ที่มุ่งเน้นการขยายธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้น และขยายสัดส่วนรายได้จากธุรกิจ Non-Freight และ Non-Logistics รวมบริการด้าน Distribution Center /Warehouse ให้เติบโต 15 – 20% ได้ตามเป้า”

       สำหรับแนวทางการดำเนินงานในปี 2568 บริษัทตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจ Non-Freight และ Non-Logistics ขึ้นเป็น 30-35% ของรายได้รวม โดยบริษัทมีแผนต่อยอดการให้บริการด้าน Distribution Center / Warehouse รวมถึงการให้บริการโลจิสติกส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจใหม่ๆ 

       “ในปีนี้ LEO ยังเดินหน้าขยายโอกาสทางธุรกิจในกลุ่ม Freight โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทั้งทางเรือและทางอากาศไปยังประเทศอินเดียและประเทศในกลุ่ม MIDDLE EAST  ที่เป็นตลาดมีศักยภาพเติบโตต่อเนื่องและยังมีโอกาสในการขยาย volume การส่งออกอีกมาก เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงและมีความต้องการสินค้าคุณภาพดีจากต่างประเทศ รวมถึงธุรกิจ Non-Freight อื่นๆ ของบริษัทฯ โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 2 นี้ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลส่งออกผลไม้ ซึ่งตลาดหลักของเรา ได้แก่ ประเทศจีน โดย บริษัท ลีโอ ซอร์สซิ่ง แอนด์ ซัพพลายเชน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ LEO ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานพาณิชย์เมืองคุนหมิง เพื่อส่งเสริมและพัฒนาแผนการค้าสินค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกทุเรียนลูกสดและทุเรียนแช่แข็งผ่านช่องทางขนส่งทางราง ไทย-ลาว-จีน ที่ล่าสุด ได้ให้การต้อนรับคณะผู้สั่งซื้อนำเข้าทุเรียนจากเมืองคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน และตัวแทนจากสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนของเมืองคุนหมิง ( E-Commerce Cross Border Association) และ สมาคมการผ่านพิธีการศุลกากรของเมืองคุนหมิง ลงพื้นที่ศึกษากระบวนการตั้งแต่การเพาะปลูก เก็บเกี่ยว คัดแยก ณ สวนทุเรียน และการกำกับดูแลงานแปรรูป และบรรจุหีบห่อทุเรียนอย่างเข้มงวด ณ โรงคัดบรรจุทุเรียน (ล้ง) ในพื้นที่จันทบุรี เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในมาตรฐานการผลิต และกระบวนการส่งออก เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมส่งออกทุเรียนของไทย พร้อมประชุมหารือในเรื่องของการจัดซื้อและบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ข้ามแดนไปสู่ประเทศจีน เพื่อผลักดันการส่งออกทุเรียนไทยไปสู่ผู้บริโภคชาวจีนให้มากขึ้น” นายเกตติวิทย์ กล่าว

       ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LEO กล่าวเพิ่มเติมว่า หนึ่งในแผนการสำคัญของ LEO ในปี 2568 คือการพัฒนาระบบขนส่งรถไฟจีน-ไทย ด้วยตู้ Reefer Containers ให้เป็นระบบแบบขนส่ง Round trip มีสินค้าขาไปและขากลับ ระหว่างประเทศจีน-ไทย โดย LEO จะเป็นผู้จัดหาสินค้าส่งออกจากประเทศไทยมายังจีน และทางฝ่ายจีนก็จะช่วยหาสินค้าส่งออกจากประเทศจีนกลับมายังประเทศไทย โดย LEO มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการ End-to-End Global Logistics Service Provider และเครือข่ายของ LaneXang Express ในประเทศจีนและไทยจะสามารถช่วยยกระดับการให้บริการเข้าสู่มาตรฐานสากล ผลักดันให้การขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างจีน-ไทย ให้ประสบความสำเร็จ และสามารถลดต้นทุนค่าขนส่งให้กับผู้ส่งออกและนำเข้าทั้งในประเทศไทยและจีน

       ในด้านการขนส่งทางรางระหว่างประเทศนั้น นายเกตติวิทย์เน้นย้ำว่า LEO เป็นหนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการขนส่งสินค้าทางรางจากไทย ผ่านประเทศลาวจนถึงเมืองคุนหมิง และขยายการส่งต่อสินค้าไปยังเมืองต่างๆ ทั่วประเทศจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน ทำให้บริษัทฯ สามารถให้บริการขนส่งทางรางได้อย่างครบวงจร รองรับความต้องการของลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกผลไม้ สินค้าเกษตร และสินค้าอื่นๆ

       LEO มีเป้าหมายให้การขนส่งทางรางเป็นกุญแจสำคัญในการขยายตลาดจีน และคาดว่าปริมาณการขนส่งผลไม้ในปีนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดย LEO ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่สามารถให้บริการขนส่งผลไม้ทางรางไปยังประเทศจีนได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นทางในไทยจนถึงปลายทางในเมืองต่างๆ ของจีน ซึ่ง LEO เชื่อมั่นว่า ปี 2568 รายได้และกำไรขั้นต้นของบริษัทจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาจากการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างประเทศไทยกับจีน รวมทั้งธุรกิจของ Non – Logistics Business จะมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดแน่นอน

       “เรามั่นใจว่าด้วยการขยายตัวทางธุรกิจในหลายมิติ ทั้งการขนส่งทางราง ธุรกิจ Non-Freight และการพัฒนาโซลูชั่นใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะช่วยเสริมฐานรายได้ และผลักดัน LEO ให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว” นายเกตติวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย


คลิปวิดีโอ