วันศุกร์ ที่ 4 กรกฎาคม 2568 17:16น.

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.43 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”

4 กรกฎาคม 2025

         นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.43 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 32.37 บาทต่อดอลลาร์

        โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาอ่อนค่าลง เข้าใกล้โซนแนวต้าน 32.50 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 32.34-32.51 บาทต่อดอลลาร์) ตามการพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ (กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง) หลังรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 1.47 แสนราย ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ลดลงสู่ระดับ 2.33 แสนราย ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด โดยจากที่ผู้เล่นในตลาดประเมินเฟดมีโอกาสราว 70% ที่จะลดดอกเบี้ยได้ 3 ครั้ง ในปีนี้ ก็เหลือ 0% หรือผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้ง สอดคล้องกับ Dot Plot ล่าสุดของเฟด อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง ตามแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาด อีกทั้งราคาทองคำ (XAUUSD) ก็มีจังหวะรีบาวด์สูงขึ้นบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดยังคงต้องการถือทองคำอยู่ ในช่วงตลาดเผชิญความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ

        แม้ว่าตลาดการเงินสหรัฐฯ จะปิดทำการเร็วกว่ากำหนด เนื่องจากจะเข้าสู่ช่วงวันหยุด 4th of July ทว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Amazon +1.6%, Microsoft +1.6% ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.02% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.83% 

        ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.47% หนุนโดยบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม โดยเฉพาะฝั่งสหรัฐฯ นอกจากนี้ ความวุ่นวายของการเมืองอังกฤษที่ทยอยคลี่คลายลง ก็พอช่วยหนุนตลาดหุ้นยุโรปบ้าง อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอลุ้นการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรป

        ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ หลังรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด (แต่เรามองว่า ในรายละเอียดข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ล่าสุด อาจไม่ได้ดีมากนัก โดยการจ้างงานส่วนใหญ่ยังคงมาจากภาครัฐ ทว่าการจ้างงานในภาคเอกชนชะลอลงชัดเจน) ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้น สู่ระดับ 4.35% โดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ดังกล่าว ทำให้เรามองว่า บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ เริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น และคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจังหวะบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หรือ บอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อ เพื่อ Risk-Reward ที่น่าสนใจกว่า (โซน 4.50% หรือสูงกว่านั้น อาจไม่ได้เห็นได้ง่ายนัก หากไม่มีความเสี่ยงเสถียรภาพการคลังของสหรัฐฯ เข้ามากดดันตลาดบอนด์ และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต้องออกมาดีกว่าคาดชัดเจน)

        ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ก่อนที่จะเผชิญแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด และการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หลังผู้เล่นในตลาดทยอยคลายกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลอังกฤษและปัญหาการเมืองอังกฤษ กดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงบ้าง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 97 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 96.7-97.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค. 2025) ปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว ก่อนที่ราคาทองคำจะพอได้แรงหนุนจากแรงซื้อ Buy on Dip ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า และจังหวะอ่อนค่าลงบ้างของเงินดอลลาร์ หนุนให้ ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นบ้าง สู่โซน 3,330-3,340 ดอลลาร์ต่อออนซ์

       สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามพัฒนาการของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า เนื่องจากเข้าใกล้วันครบกำหนดพักมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ในวันที่ 9 กรกฎาคม นี้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางหลักดังกล่าว

       สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways ไปก่อน เนื่องจากช่วงนี้จะเข้าสู่ช่วงวันหยุด 4th of July ของฝั่งสหรัฐฯ ทำให้ปริมาณการทำธุรกรรมในตลาดจะเบาบางลง และเราเชื่อว่า ภาพดังกล่าวก็มีส่วนทำให้ ในช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก (อ่อนค่าน้อยกว่า ค่าสถิติระดับ +1SD หรือ +0.5% เล็กน้อย) แม้ว่ารายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ จะออกมาดีกว่าคาด จนทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดโอกาสเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง พอสมควร

       อนึ่ง ในช่วงระหว่างวัน เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนบ้าง หากราคาทองคำยังสามารถทรงตัว หรือปรับตัวสูงขึ้นได้บ้าง เนื่องจากในช่วงนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจรอทยอยซื้อทองคำ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่หลายประเทศคู่ค้า รวมถึงไทย เสี่ยงที่จะเผชิญการเรียกเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ในอัตราที่สูง หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ได้ก่อนครบกำหนด 90 วัน พักมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ดังกล่าว เว้นแต่ ทางการสหรัฐฯ จะขยายเวลาพักมาตรการดังกล่าวเพิ่มเติม ซึ่งเรามองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาพดังกล่าวเช่นกัน เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเผชิญปัจจัยเสี่ยงด้านลบพอสมควร หากเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงมากกว่าปัจจุบัน นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงบ้างของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนรอจังหวะทยอยขายเงินดอลลาร์เพิ่มเติมได้ โดยเฉพาะหากเงินบาทอ่อนค่าลงใกล้โซนแนวต้าน 32.50 บาทต่อดอลลาร์

       อย่างไรก็ดี เรามีความกังวลว่า ในช่วงระยะสั้นราว 1 เดือน ข้างหน้า เงินบาทมีความเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าลงได้ หากทางการสหรัฐฯ เดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้ากับไทยในอัตราที่สูงขึ้นกว่าปัจจุบัน เช่น แม้จะเจรจาการค้าได้แล้ว แต่ไทยก็ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 15%-18% (ครึ่งหนึ่งของ 36% ที่สหรัฐฯ เคยประกาศไว้) หรือในกรณีเลวร้ายสุด ไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 36% ขณะที่บรรดาประเทศคู่ค้าอื่นๆ อาจบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ และถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงกว่าปัจจุบันไม่มาก เราประเมินว่า กรณีดังกล่าว อาจเห็นเงินบาททยอยอ่อนค่าลงได้ไม่ยาก ท่ามกลางแรงขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ เราจะมั่นใจมากขึ้น ว่าเงินบาทได้กลับเข้าสู่แนวโน้มทยอยอ่อนค่าลงอีกครั้ง หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 32.80-32.90 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน ตามการประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend Following 

       เรายังคงมีความกังวลเดิม คือ ความผันผวนของเงินบาทที่อาจกลับมาสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์หน้าที่ ตลาดการเงินไทยอาจเผชิญแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ Options เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

       มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.35-32.55 บาท/ดอลลาร์

 

 


คลิปวิดีโอ