นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.38 บาทต่อดอลลาร์“อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ณ ระดับ 33.02 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิด ณ วันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม)
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา รวมถึงช่วงวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันหยุดทำการของตลาดการเงินฝั่งไทย เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จนทะลุโซนแนวต้าน 33.30 บาทต่อดอลลาร์ ไปทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 32.91-33.52 บาทต่อดอลลาร์) ตามการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน หลังสหรัฐฯ กับจีนบรรลุข้อตกลงการค้าชั่วคราว ซึ่งภาพดังกล่าวได้ทำให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยคลายกังวลความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก และทยอยลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเดินหน้าลดดอกเบี้ยของเฟด จนล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้ง ในปีนี้ (นักวิเคราะห์บางส่วนถึงกับปรับเปลี่ยนมุมมองการลดดอกเบี้ยจากกลับมาลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกรกฎาคม เป็นเดือนธันวาคม) นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลดลงของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่มีจังหวะย่อตัวลงไปถึงโซน 3,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง ตามแรงขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการรีบาวด์ขึ้นบ้างของราคาทองคำ
สัปดาห์ที่ผ่านมา แนวโน้มเฟดไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ย กอปรกับความหวังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้าและรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ทยอยออกมาดีกว่าคาด ได้ช่วยหนุนเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น
สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรจับตา รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด พร้อมทั้ง รอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ เอเชีย
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
ฝั่งสหรัฐฯ – บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ โดยเฉพาะ อัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดค้าปลีก (Retail Sales) รวมถึงจับตาพัฒนาการของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า หลังล่าสุด สหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงการค้าชั่วคราวกับจีน ซึ่งภาพดังกล่าวทำให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก จนทำให้มีการปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด จากที่เคยประเมินไว้ว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 3-4 ครั้ง เป็นเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้ง และเฟดอาจเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายน จากที่ตลาดเคยมองไว้ในการประชุมเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะ ประธานเฟด Jerome Powell เพื่อประกอบการประเมินทิศทางนโยบายการเงินเฟด
ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ข้อมูลการจ้างงานและอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอังกฤษในไตรมาสแรกของปีนี้ พร้อมรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของ ECB ด้วยเช่นกัน
ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสแรกของปีนี้ นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าฝั่งเอเชีย รวมถึงรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน อย่าง บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Alibaba, Tencent และ JD.com ซึ่งจะส่งผลต่อบรรยากาศในตลาดการเงินเอเชียได้พอสมควร
ฝั่งไทย – เรามองว่าผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามสถานการณ์ทางการเมืองของไทยที่เริ่มมีภาพของความไม่แน่นอนปรากฎขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนเป็นสำคัญ สำหรับ แนวโน้มเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทมีกำลังมากขึ้น หลังเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ และโซน 33.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้สำเร็จ อย่างไรก็ดี เงินบาทยังคงเผชิญความเสี่ยง Two-Way Volatility ขึ้นกับแนวโน้มเงินดอลลาร์ ราคาทองคำซึ่งอาจมีจังหวะรีบาวด์ขึ้นบ้าง (แม้จะยังคงอยู่ในช่วงของการพักฐาน Correction Phase) รวมถึงทิศทางบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชีย ที่อาจพอได้แรงหนุนจากอานิสงส์ข้อตกลงทางการค้าชั่วคราวระหว่างสหรัฐฯ กับ จีน ทั้งนี้ เงินบาทยังคงมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ โดยในสัปดาห์ 6-9 พฤษภาคม เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ทว่า เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินทรัพย์ไทย อย่าง หุ้นไทย จากบรรดานักลงทุนต่างชาติได้ แต่ฝั่งบอนด์อาจทยอยเห็นแรงขายทำกำไรสถานะลงทุนในบอนด์ไทย ในเชิงเทคนิคัลนั้น เงินบาทมีโอกาสกลับมายังอยู่ในแนวโน้มการอ่อนค่า หลังเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 33.30 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend-Following ทั้งนี้ แนวรับของเงินบาท (USDTHB) อาจขยับขึ้นมาแถว 33.00 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 32.75-32.85 บาทต่อดอลลาร์) ส่วนโซนแนวต้านสำคัญจะอยู่ในช่วง 33.50 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไป 33.75-33.85 บาทต่อดอลลาร์)
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลงได้ หลังโมเมนตัมการอ่อนค่ามีกำลังมากขึ้น โดยเงินบาทยังพอมีแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติ ทว่าทิศทางเงินบาทจะขึ้นกับ เงินดอลลาร์ รวมถึงแนวโน้มราคาทองคำและบรรดาสกุลเงินเอเชีย ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาตินั้น อาจเห็นแรงซื้อหุ้นไทยเพิ่มเติมได้ ทว่าอาจเห็นแรงขายทำกำไรสถานะลงทุนในบอนด์สั้นและบอนด์ยาวของไทยมากขึ้น
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์อาจชะลอลงบ้าง และมีความเสี่ยง Two-Way Volatility ซึ่งจะขึ้นกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางนโยบายการเงินของเฟด โดยต้องรอลุ้นว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ จะยังคงออกมาสดใส หรือไม่
เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.95-33.75 บาท/ดอลลาร์
ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.25-33.60 บาท/ดอลลาร์