วันอังคาร ที่ 6 พฤษภาคม 2568 11:54น.

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.93 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”

6 พฤษภาคม 2025

         นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.93 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ณ ระดับ 33.05 บาทต่อดอลลาร์

        โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา รวมถึงช่วงวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันหยุดทำการของตลาดการเงินฝั่งไทย เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 32.81-33.15 บาทต่อดอลลาร์) สอดคล้องกับทิศทางการเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways ของเงินดอลลาร์ ที่ยังพอได้แรงหนุนบ้าง จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด ทั้งยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) เดือนเมษายน ที่ออกมาดีกว่าคาด ทว่า เงินบาทก็ยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากการรีบาวด์ปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่สามารถรีบาวด์ขึ้นได้เกิน +100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้ว่าทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม โดยราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนจากการเข้าซื้อ Buy on Dip ของผู้เล่นในตลาดแถวโซนแนวรับ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะ จีน

       สัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ทยอยออกมาดีกว่าคาดบ้าง กอปรกับภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ได้ช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น จากที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้า 

      สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรจับตา ผลการประชุมเฟด (FOMC) และผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) พร้อมทั้ง รอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

       ฝั่งสหรัฐฯ – บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น ผลการประชุมเฟด (FOMC) แม้ว่าในการประชุมครั้งนี้ เฟดอาจยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.25-4.50% ทว่าผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาการปรับมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินของเฟด จากทางประธานเฟด Jerome Powell ในช่วง Press Conference นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดท่านอื่นๆ เพื่อประกอบการประเมินทิศทางนโยบายการเงินเฟด ซึ่งล่าสุดผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้ง ในปีนี้ พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญ

       ฝั่งยุโรป – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยเราคาดว่า BOE อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 4.25% เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจอังกฤษ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลก อีกทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของอังกฤษก็ทยอยชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมา ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า BOE มีโอกาสราว 70% ที่จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม 4 ครั้ง ในปีนี้  

        ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีนในเดือนเมษายน ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Caixin Services PMI) ที่จะเน้นบริษัทขนาดเล็ก-กลาง พร้อมทั้งรอประเมินผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อยอดการค้าระหว่างประเทศ (Exports & Imports) ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Wage Growth) ในเดือนมีนาคม ว่าจะยังสอดคล้องกับแนวโน้มวัฏจักร Virtuous Wage-Growth ที่จะช่วยหนุนให้อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นอยู่ที่ระดับเป้าหมาย 2% ได้อย่างยั่งยืน หรือไม่ ซึ่งภาพดังกล่าวจะช่วยหนุนให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) สามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ หาก BOJ คลายกังวลผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ทางฝั่งมาเลเซีย บรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.00% เพื่อรอประเมินผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ 

        ฝั่งไทย – แม้เราจะประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนเมษายนจะชะลอลงสู่ระดับ -0.1%y/y (-0.1%m/m) ตามการปรับตัวลงของราคาพลังงานเป็นสำคัญ ทว่า อัตราเงินเฟ้อ “ติดลบ” ดังกล่าวจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และยังไม่ได้สะท้อนถึงภาวะเงินฝืด ทั้งนี้ แนวโน้มการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อที่อาจต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายก็อาจทำให้ ธปท. มีเหตุผลในการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มเติม สำหรับ แนวโน้มเงินบาท เราประเมินว่า แม้เงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้นจนทะลุโซนแนวรับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ แต่การแข็งค่าของเงินบาทอาจชะลอบ้าง และเงินบาทก็เสี่ยงทยอยอ่อนค่าลงบ้าง ในลักษณะ Sideways Up โดยในสัปดาห์ 6-9 พฤษภาคม เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ส่วนเงินดอลลาร์อาจพอได้แรงหนุนบ้าง ตราบใดที่ตลาดยังเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงและทยอยคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวหนัก อนึ่ง ควรจับตาทิศทางราคาทองคำและการเคลื่อนไหวของบรรดาสกุลเงินเอเชีย อย่าง เงินหยวนจีน อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับเงินบาทในระดับที่สูงในระยะสั้นนี้ ในเชิงเทคนิคัลนั้น เงินบาทจะยังไม่กลับมายังอยู่ในแนวโน้มการอ่อนค่า ตราบใดที่เงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend-Following ทั้งนี้ แนวรับของเงินบาท (USDTHB) ได้ขยับลงมาแถว 32.75-32.85 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 32.50 บาทต่อดอลลาร์) ส่วนโซนแนวต้านสำคัญจะอยู่ในช่วง 33.00 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไป 33.30-33.40 บาทต่อดอลลาร์)

        สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าของเงินบาท ในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา อาจชะลอลง เปิดโอกาสให้เงินบาท (USDTHB) เสี่ยงทยอยอ่อนค่าลง “Sideways Up” ท่ามกลางแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติ อีกทั้งเงินดอลลาร์อาจพอได้แรงหนุนอยู่ ทว่า ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดอาจเพิ่มแรงซื้อสินทรัพย์ไทยได้ อย่างไรก็ดี ควรจับตาทิศทางราคาทองคำและสกุลเงินเอเชีย อาทิ เงินหยวนจีน อย่างใกล้ชิด

        ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าต่อได้ ตราบใดที่ตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง และเฟดยังคงย้ำจุดยืนไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ย อีกทั้งไม่ได้แสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากนัก อนึ่ง ควรระวังความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ ที่อาจกดดันเงินดอลลาร์ได้

       เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward

       มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.75-33.35 บาท/ดอลลาร์

       ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33.05 บาท/ดอลลาร์

 

 

 


คลิปวิดีโอ