วันจันทร์ ที่ 7 กรกฎาคม 2568 17:29น.

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.39 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”

7 กรกฎาคม 2025

          นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.39 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ณ ระดับ 32.36 บาทต่อดอลลาร์

        โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 32.33-32.40 บาทต่อดอลลาร์) สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวไร้ทิศทางที่ชัดเจน หรือ Sideways ของทั้งเงินดอลลาร์และราคาทองคำ โดยผู้เล่นในตลาดต่างรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะแนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะมีการประกาศอัตราภาษีนำเข้าใหม่ในเร็ววันนี้ หลังครบกำหนดพักมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ในวันที่ 9 กรกฎาคม ทั้งนี้ เงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ในช่วงเช้าของตลาดการเงินเอเชีย ตามการทยอยปรับตัวลดลงของราคาทองคำเข้าใกล้โซนแนวรับระยะสั้นอีกครั้ง

       สัปดาห์ที่ผ่านมา มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด  หลังรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด หนุนให้เงินดอลลาร์รีบาวด์สูงขึ้น

        สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรรอลุ้น การประกาศอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ต่อบรรดาประเทศคู่ค้า หลังครบกำหนดการพักมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs)

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

        ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า ซึ่งในสัปดาห์นี้ ทางการสหรัฐฯ อาจมีการประกาศอัตราภาษีนำเข้าใหม่ที่จะเรียกเก็บกับบรรดาประเทศคู่ค้า หลังครบกำหนด 90 วัน พักมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ส่วนในฝั่งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง (NFIB Small Business Optimism) เดือนมิถุนายน โดยเฉพาะในส่วนของแนวโน้มการจ้างงานในภาคธุรกิจดังกล่าว เนื่องจากการจ้างงานส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ นั้นมาจากภาคธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) เพื่อประเมินภาวะและแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ รวมถึงรอจับตา รายงานการประชุม FOMC ของเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ในการประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด โดยเริ่มกลับมาเชื่อว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้ง ในปีนี้ และเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้อีกราว 3 ครั้ง ในปีหน้า  

        ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB รวมถึง รายงานข้อมูลเศรษฐกิจของยูโรโซน อย่าง ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) ในเดือนมิถุนายน และรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนพฤษาคม นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป (EU) เพื่อประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น หากสหรัฐฯ ปรับเปลี่ยนอัตราภาษีนำเข้าที่จะเรียกเก็บกับสินค้าจากบรรดาประเทศในสหภาพยุโรป

        ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ในเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ ตลอดทั้งสัปดาห์ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามผลการประชุมบรรดาธนาคารกลางฝั่งเอเชีย โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) และธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) อาจลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 3.60% และ 2.75% ตามลำดับ ตามแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ทยอยกลับสู่เป้าหมายของธนาคารกลาง ขณะที่ ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) และธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.25% และ 2.50% เพื่อรอประเมินสถานการณ์โดยเฉพาะนโยบายการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ซึ่งภายในสัปดาห์นี้ ทางรัฐบาลสหรัฐฯ อาจทยอยประกาศอัตราภาษีนำเข้าใหม่ที่จะเรียกเก็บจากบรรดาประเทศคู่ค้า หลังครบกำหนดพักมาตรการภาษีนำเข้าตอบโต้

        ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะยังคงติดตามพัฒนาการของสถานการณ์การเมืองไทย ท่ามกลางความเสี่ยงที่อาจจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ หรือ การยุบสภา เพื่อเลือกตั้งในช่วงปลายปี พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น แนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และการประกาศอัตราภาษีนำเข้าของรัฐบาลสหรัฐฯ หลังครบกำหนดพักมาตรการภาษีนำเข้าตอบโต้ ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในเดือนมิถุนายน

        สำหรับ แนวโน้มเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้ชะลอลง เปิดโอกาสให้เงินบาทเสี่ยงอ่อนค่าลงได้ ซึ่งเรามองว่า ในระยะสั้น เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลง หากทางการสหรัฐฯ ปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้ากับสินค้าไทย จากระดับปัจจุบันที่ถูกเรียกเก็บในอัตรา 10% (Universal Tariffs) ซึ่ง เรามองว่า ทางการสหรัฐฯ อาจเลือกที่จะประกาศอัตราภาษีนำเข้าใหม่ในลักษณะ 10%, 20% (เรียกเก็บกับสินค้านำเข้าจากเวียดนามล่าสุด) และ 30% (ซึ่งเรียกเก็บกับสินค้านำเข้าจากจีน) และหากประเมินจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับเวียดนามล่าสุด เรามองว่า สินค้าไทยก็เสี่ยงเผชิญอัตราภาษีนำเข้าในระดับ 20% เช่นกัน (30%-40% สำหรับสินค้าเสี่ยงมีการสวมสิทธิ์ หรือ Transshipment) ซึ่งหากเทียบเคียงกับช่วงสหรัฐฯ ประกาศมาตรการภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่ไทยเผชิญอัตราภาษีที่สูงถึง 36% กดดันให้เงินบาททยอยอ่อนค่าลงในช่วง 2%-3% ภายในระยะสั้น ทำให้ เรามองว่า หากไทยเผชิญอัตราภาษีนำเข้าใหม่ที่สูงเกิน 10% ก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ไม่ยาก แม้อาจไม่ได้อ่อนค่าหนักเท่ากับช่วงการประกาศ Reciprocal Tariffs ก็ตาม อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนบ้าง หากราคาทองคำทยอยปรับตัวสูงขึ้นบ้าง ในกรณีที่ตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จากความกังวลนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเงินบาท (USDTHB) ยังมีโซนแนวต้านแถว 32.65-32.75 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไป 32.90-33.00 บาทต่อดอลลาร์) ส่วนโซนแนวรับจะอยู่แถว 32.30-32.40 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 32.10 บาทต่อดอลลาร์)

        อนึ่ง เมื่อประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend-Following เงินบาทจะกลับมาอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่าลงอีกครั้ง หากสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 32.70-32.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้ชัดเจน (หรืออ่อนค่าทะลุเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน)

       ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้ หนุนโดยการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินคู่ค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชีย ที่อาจเผชิญการเรียกเก็บภาษีนำเข้าใหม่ในอัตราที่สูงขึ้นจาก Universal Tariffs 10% ทั้งนี้ ทิศทางเงินดอลลาร์จะยังคงขึ้นกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและประเด็นเสถียรภาพการคลังของสหรัฐฯ

        เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward

        มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.10-33.00 บาท/ดอลลาร์

       ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.30-32.50 บาท/ดอลลาร์

 

 

 


คลิปวิดีโอ