สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) โดยสายตรวจสอบคนกลางประกันภัย เปิดเผยข้อมูลว่า ในปี 2567 เบี้ยประกันภัยที่เสนอขายผ่านนายหน้านิติบุคคลมีมูลค่ารวมกว่า 448,683 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.75 จากปีก่อนหน้า คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดประมาณ ร้อยละ 47.8 ของเบี้ยประกันภัยรวม แบ่งเป็นเบี้ยประกันชีวิต 249,900 ล้านบาท และเบี้ยประกันวินาศภัย 198,783 ล้านบาท สะท้อนบทบาทสำคัญของนายหน้านิติบุคคลในฐานะคนกลางประกันภัย
ที่ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้มากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ขายผ่านนายหน้านิติบุคคล ส่วนใหญ่เป็นประกันชีวิตประเภทสามัญ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ76 ของเบี้ยประกันชีวิตรวม มีอัตราเติบโต ร้อยละ 4.01 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ประกอบกับศักยภาพด้านการตลาดและการเข้าถึงลูกค้าของนายหน้านิติบุคคล ขณะที่ประกันชีวิตกลุ่ม มีสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 24 และมีแนวโน้มปรับตัวลดลงร้อยละ5.86 อันเป็นผลจากภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ด้านประกันวินาศภัย ประกันภัยรถยนต์ ยังคงเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่ นายหน้านิติบุคคลเสนอขาย คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 57 ของเบี้ยประกันวินาศภัยรวม โดยมีการปรับตัวลดลง ร้อยละ 1.71 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับภาวะชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวม
สำหรับข้อมูล ณ สิ้นปี 2567 มีนายหน้านิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจรวมทั้งสิ้น 760 บริษัท แบ่งเป็นธนาคาร 18 แห่ง และนิติบุคคลที่ไม่ใช่ธนาคาร 742 บริษัท โดยมีผู้ได้รับใบอนุญาตใหม่ในปีดังกล่าวจำนวน 15 บริษัท และในระหว่างปีมีนายหน้านิติบุคคลที่ไม่ต่อใบอนุญาต จำนวน 26 บริษัท ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลจำนวนนายหน้านิติบุคคลประกอบกับข้อมูลสถิติเบี้ยประกันภัยในข้างต้น จะเห็นว่านายหน้านิติบุคคลในระบบประกันภัยมีจำนวนมากและมีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจประกันภัย สำนักงาน คปภ. จึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องกำกับดูแลนายหน้านิติบุคคลอย่างใกล้ชิด เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย และรักษาเสถียรภาพของระบบประกันภัยโดยรวม โดยดำเนินมาตรการเชิงรุกในการกำกับดูแล และเน้นย้ำให้นายหน้านิติบุคคลมีระบบควบคุมคุณภาพการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย รวมถึงตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของนายหน้าบุคคลธรรมดา ภายใต้นิติบุคคลอย่างเคร่งครัด อีกทั้ง ต้องคัดเลือกบุคลากรที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น เพื่อป้องกันมิให้มีการเสนอขายประกันภัยโดยบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาต และส่งเสริมให้นายหน้านิติบุคคลจัดให้มีช่องทางการชำระเบี้ยประกันภัยผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เอาประกันภัย และลดความเสี่ยงจากการทุจริตหรือการฉ้อฉลที่อาจเกิดจากการรับเงินสดโดยตรง
ดังนั้น เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในการเลือกซื้อประกันภัยอย่างปลอดภัยและโปร่งใส สำนักงาน คปภ. ขอแนะนำประชาชนตรวจสอบข้อมูลก่อนทำธุรกรรม เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองอย่างถูกต้องครบถ้วน โดยเฉพาะการตรวจสอบข้อมูลของตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย ว่ามีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายซึ่งออกโดยสำนักงาน คปภ. หรือไม่ โดยสามารถตรวจสอบได้ผ่านเว็บไซต์ https://smart.oic.or.th/EService/Menu1 (บริการ E-Service ของ สำนักงาน คปภ.) ซึ่งหากไม่พบข้อมูล หรือพบว่าข้อมูลไม่ตรงกับที่ได้รับแจ้ง ควรงดทำธุรกรรมและไม่ให้ข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อป้องกันการสูญเสียสิทธิประโยชน์จากผู้แอบอ้าง และควรเลือกชำระเบี้ยประกันภัยผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การโอนเงินเข้าบัญชีของบริษัทประกันภัยโดยตรง หรือผ่านบัญชีของนายหน้านิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ เพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้เงินสดและหลีกเลี่ยงความเสียหายจากการหลอกลวงหรือฉ้อฉล