วันพฤหัสบดี ที่ 15 พฤษภาคม 2568 18:25น.

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.43 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก”

15 พฤษภาคม 2025

        นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.43 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ  33.21 บาทต่อดอลลาร์

        โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาอ่อนค่าลง เข้าใกล้โซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ อีกครั้ง (แกว่งตัวในกรอบ 33.18-33.48 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการทยอยรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หนุนโดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้ง ในปีนี้ หลังผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด กอปรกับผู้เล่นในตลาดยังมีความหวังต่อแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า นอกจากนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาทองคำ (XAUUSD) จนเข้าใกล้โซนแนวรับสำคัญ หลังทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ราคาทองคำก็ขาดปัจจัยสนับสนุนใหม่ๆ เพิ่มเติมในช่วงนี้ 

        บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถูกกดดันบ้างจากแรงขายหุ้นกลุ่ม Healthcare ท่ามกลางความกังวลผลกระทบจากมาตรการควบคุมราคายาของรัฐบาล Trump 2.0 อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ นำโดย Nvidia +4.2%, Tesla +4.1% ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.72% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.10%

        ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.24% แม้ว่าตลาดหุ้นยุโรปจะได้อานิสงส์จากความหวังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า ทว่า ตลาดหุ้นยุโรปก็ถูกกดดันจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาผสมผสาน ทำให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะทยอยขายทำกำไรการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปในช่วงที่ผ่านมา อย่างกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม LVMH -2.2% นอกจากนี้ ความกังวลผลกระทบจากมาตรการควบคุมราคายาของรัฐบาลสหรัฐฯ ยังได้กดดันให้หุ้นกลุ่ม Healthcare ยุโรป ต่างปรับตัวลดลงต่อเนื่องเช่นกัน

        ในส่วนตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่กลับมาเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้ง ในปีนี้ ท่ามกลางความหวังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 4.54% โดยเราคงคำแนะนำเดิมว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดสามารถทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาวได้ (เน้น Buy on Dip) โดยเฉพาะในช่วงโซนสูงกว่า 4.50%  

        ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามทิศทางการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่กลับมาเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้ง ในปีนี้ อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ก็ดูเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนเลือกที่จะทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่โซน 101 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.4-101.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) ดิ่งลงกว่า -1.6% สู่ระดับ 3,185 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำในโซนดังกล่าว ซึ่งเป็นโซนแนวรับของราคาทองคำในช่วงนี้  

        สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) รวมถึง ดัชนีภาคธุรกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะ ประธานเฟด Jerome Powell เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด ที่ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้ง ในปีนี้ สอดคล้องกับคาดการณ์ของเฟดใน Dot Plot เดือนมีนาคม

        ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของยูโรโซนและอังกฤษ ในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยภาพดังกล่าว รวมถึงถ้อยแถลงบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะเป็นปัจจัยที่ผู้เล่นในตลาดใช้ประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของทั้ง ECB และ BOE โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดได้ปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ของ ECB และ BOE ลง ท่ามกลางความหวังแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น หากสหรัฐฯ สามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับบรรดาประเทศคู่ค้าได้สำเร็จ  

        ส่วนในฝั่งเอเชีย ในช่วงราว 6.50 น. ตามเวลาประเทศไทยของเช้าวันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม นี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ในไตรมาสแรกเช่นกัน และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงพัฒนาการของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า

        สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทเข้าใกล้โซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น อาจมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำ (Buy on Dip) หลังราคาทองคำปรับตัวลดลงเข้าใกล้โซนแนวรับ ซึ่งหากราคาทองคำสามารถทยอยรีบาวด์สูงขึ้นได้จากโซนแนวรับดังกล่าว อย่างน้อย +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ ทำให้ แนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ยังเป็นโซนแนวต้านที่อาจผ่านได้ยากในช่วงนี้

        อย่างไรก็ดี หากราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลุดโซนแนวรับดังกล่าว ก็อาจปรับตัวลดลงต่อได้อีกราว -2.5% ถึงโซนแนวรับสำคัญถัดไป ซึ่งหากประเมินจาก Beta ระหว่างเงินบาทกับราคาทองคำ ราว 0.3-0.5 อาจสะท้อนได้ว่า เงินบาทก็มีโอกาสอ่อนค่าลงได้อีกราว 0.75%-1.25% ทดสอบโซนแนวต้านถัดไป 33.75-33.85 บาทต่อดอลลาร์ ได้ โดยเรามองว่า ภาพดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ หากเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อ พร้อมกับภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ซึ่งจำเป็นต้องเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในคืนนี้ (ที่จะทยอยรับรู้ในช่วงตั้งแต่ 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) ล้วนออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ พร้อมปรับลดโอกาสเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงชะลอตัวลงจนเข้าสู่ภาวะ Stagflation หรือแม้กระทั่ง Recession

       อนึ่ง เรามองว่า บรรดาผู้ส่งออกและผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่มีสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) อาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ ในช่วงโซนแนวต้านของเงินบาทดังกล่าว ทำให้ การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ แรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติ จะยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอาจยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ชัดเจน โดยโซนแนวรับของเงินบาทยังอยู่ในช่วง 33.15 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีโซนแนวรับสำคัญแถว 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ตามเดิม

        ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

        มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.25-33.60 บาท/ดอลลาร์

 


คลิปวิดีโอ