วันเสาร์ ที่ 10 พฤษภาคม 2568 04:22น.

‘ไทยยูเนี่ยน’เปิดยอดขายไตรมาสแรก รับ 2.98 หมื่นลบ. ด้วยกำไรสุทธิปรับปรุง เพิ่ม 9%

9 พฤษภาคม 2025

tu

        ‘ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป’ รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2568 ด้วยยอดขาย 29,789 ล้านบาท และทำอัตรากำไรขั้นต้นขยายตัวดีมาอยู่ที่ 18.8 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นสถิติสูงสุดสำหรับการเติบโตในไตรมาสแรก พร้อมด้วยการบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องทำให้ไทยยูเนี่ยนมีงบดุลที่แข็งแกร่ง

        นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับภาพรวมในการดำเนินธุรกิจในไตรมาสแรกของปี 2568 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิที่ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการทำทรานฟอร์เมชั่นตามกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2573 (Strategy 2030) อยู่ที่ 1,317 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 8.9 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกำไรสุทธิ อยู่ที่ 1,019 ล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ในเกณฑ์ที่ดีคือ 1.0 เท่า ทำให้ไทยยูเนี่ยนมีความคล่องตัวและสามารถสร้างโอกาสสำหรับการลงทุนในอนาคตได้ ทั้งนี้ Strategy 2030 นับเป็นโร้ดแม็ปใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตครั้งสำคัญของไทยยูเนี่ยน เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำของโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพจากท้องทะเล

        “แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมจะมีความท้าทายอย่างมาก แต่เรายังคงมุ่งมั่นในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลัก ผ่านการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว จนสามารถสร้างผลกำไรที่ดี นอกจากนี้ เรายังคงเดินหน้าสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจให้เกิดความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และรวดเร็วยิ่งขึ้น การวางรากฐานการทำงานที่แข็งแกร่งกำลังเริ่มผลิดอกออกผล และจะสร้างประโยชน์และความสำเร็จให้กับองค์กรมากขึ้นในอนาคต” นายธีรพงศ์ กล่าว

        สำหรับผลประกอบการตามกลุ่มธุรกิจของไทยยูเนี่ยนในไตรมาสแรกของปี พบว่า กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงยังเติบโตต่อเนื่อง มียอดขายรวม 4,174 ล้านบาท ขยายตัว 5.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 24.5เปอร์เซ็นต์

        ส่วนกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป มียอดขายรวม 14,762 ล้านบาท ปรับตัวลดลงราว 14.0 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากปริมาณความต้องการสินค้าในตะวันออกกลางในปีก่อนที่สูงมากกว่าปกติ และการลดลงของยอดขายผลิตภัณฑ์รับจ้างผลิตในยุโรป จากการที่ลูกค้ากลุ่มนี้ชะลอการสั่งซื้อสินค้า เนื่องด้วยราคาปลาที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มอาหารทะเลแปรรูปในไตรมาสนี้ทำได้ดีถึง 19.4 เปอร์เซ็นต์

        ขณะที่กลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง มียอดขายรวม 8,441 ล้านบาท ลดลง 12.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากราคากุ้งในสหรัฐอเมริกาที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ยอดขายกุ้งชะลอตัว แต่บริษัทฯ ยังคงสามารถทำอัตรากำไรขั้นต้นได้ดีขึ้นจาก 11.8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปีก่อน มาอยู่ที่ 12.4 เปอร์เซ็นต์ ในไตรมาสแรกปีนี้ และสุดท้ายคือกลุ่มธุรกิจสินค้าเพิ่มมูลค่าและอื่น ๆ ทำยอดขายได้ 2,412 ล้านบาท ลดลงราว 3.1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อน 

        จากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ไทยยูเนี่ยนยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ในกรณีที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาดำเนินการตามอัตราภาษีที่ประกาศจริง บริษัทฯ มีการคาดการณ์เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางภาษีไว้แล้วและได้เตรียมพร้อมโดยการสำรองสินค้าทุกประเภทในสหรัฐอเมริกาไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้มีสินค้าในตลาดเพียงพอสำหรับการขายราว 4-6 เดือน ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในระยะสั้น ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังคงใช้ประโยชน์จากการมีฐานการผลิตและแหล่งวัตถุดิบทั่วโลก เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดจากการขึ้นภาษีให้เหลือน้อยที่สุด โดยไทยยูเนี่ยนมีฐานการผลิต 15 แห่ง ใน 13 ประเทศ เช่น กานา เซเชลส์ โปแลนด์ สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม เป็นต้น ทำให้บริษัทฯ มีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนทางภาษี

        นอกจากนี้ ในไตรมาสแรกของปีไทยยูเนี่ยนยังได้รับการประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ ระดับ A แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ จาก Japan Credit Rating หรือ JCR ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากบริษัทมีศักยภาพในการเติบโตและมีธุรกิจหลากหลายอยู่ทั่วโลก ทั้งนี้ อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศนี้อยู่ในอันดับเดียวกันกับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ได้รับจาก JCR พร้อมกันนี้ JCR ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินในประเทศของบริษัทไว้ที่ระดับ A แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพเช่นเดียวกัน

        ขณะเดียวกัน ไทยยูเนี่ยนยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนเงินกู้ด้านความยั่งยืนทางทะเล หรือ Blue Loan วงเงิน 150 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 5,000 ล้านบาท จากธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB โดยเป็นการปล่อยวงเงินกู้ Blue Loan จาก ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำที่เป็นพันธมิตรทางการเงินให้กับบริษัทอาหารทะเลในประเทศไทยเป็นครั้งแรก วงเงินกู้ดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในการยกระดับการจัดซื้อวัตถุดิบกุ้งที่เพาะเลี้ยงอย่างยั่งยืนในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายหลักของกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 ของไทยยูเนี่ยน


คลิปวิดีโอ